สุขภาพ ความรู้รอบตัว

รู้ทัน และเข้าใจเกี่ยวกับโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เพื่อหาวิธีรักษาและป้องกันได้ตรงจุด

โรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกัน ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย ทั้งกลางวัน กลางคืน ปวดกลั้นมากขณะที่จะไปห้องน้ำจนบ่อยครั้ง หรือบางครั้งกลั้นไม่อยู่ราดออกไปก่อน สตรีหลังคลอดบุตรตามธรรมชาติผ่านช่องคลอด 2 – 3 คนแล้ว อาจจะพบว่ามีอาการปัสสาวะเล็ดออกมาบ้างทั้งน้อยหรือมากเมื่อเวลาเป็นหวัด มีไอและจาม พบว่าปัสสาวะเล็ด เรียกว่า ปัสสาวะเล็ดเมื่อมีการออกแรงเบ่งช่องท้อง รวมทั้งอาจเกิดขึ้นได้เมื่อก้มลงยกของหนักจากพื้นหรือกระโดดออกกำลังกาย หรือแม้แต่ก้าวขึ้นบันไดหลาย ๆ ขั้นก็ตาม

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค หรือภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

  • หูรูดเสื่อม หรือไม่แข็งแรง
  • การอักเสบติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะหรือทางเดินปัสสาวะ
  • กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อน
  • การใช้ยาบางชนิด
  • เยื่อบุรอบท่อปัสสาวะบางฝ่อ
  • ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน
  • การบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะไวกว่าปกติ
  • ท้องผูกเรื้อรัง
  • มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว

ภาวะการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่พบหลักๆ จะมีอยู่ด้วยกัน 3  ชนิดได้แก่

1.กลั้นปัสสาวะไม่ได้หลังมีการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง (Stress Urinary Incontinence)

ในภาวะปกติสตรีจะมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ทำหน้าที่พยุงท่อปัสสาวะให้อยู่นิ่งและช่วยทำหน้าที่อุดกั้นท่อปัสสาวะเมื่อเกิดการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่น การไอหรือจาม การหัวเราะ การออกกำลังกาย แต่หากเกิดการบาดเจ็บหรือมีความเสื่อมของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันดังกล่าวย่อมทำให้เกิดภาวะปัสสาวะเล็ดตามหลังการเพิ่มแรงดันในท้องได้

2.ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้หลังมีอาการปวดปัสสาวะฉับพลัน (Urgency Incontinence)

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้หลังมีอาการปวดปัสสาวะฉับพลัน หรือภาวะปัสสาวะราด สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน โดยมักมีอาการตามหลังอาการปวดปัสสาวะฉับพลันซึ่งอาจมีอาการเกิดขึ้นเองหรือมีปัจจัยบางอย่างกระตุ้น เช่น การถอดกางเกงชั้นใน การเปิดประตูห้องน้ำ การล้างมือด้วยน้ำเย็น หรือแม้กระทั่งการไขกุญแจบ้าน นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะบ่อย (มากกว่า 7 ครั้ง) และปัสสาวะบ่อยเวลากลางคืน (ตื่นขึ้นมาปัสสาวะมากกว่า 1 ครั้ง) ร่วมด้วย

3.ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้แบบผสม (Mixed Incontinence)

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้แบบผสม คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีทั้งภาวะไอจามปัสสาวะเล็ด และภาวะปัสสาวะราดรวมกันนอกจากนี้แล้วยังมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้อีกหลายชนิด แต่อาจพบได้น้อยกว่า ได้แก่ ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ขณะเปลี่ยนท่าทาง ภาวะปัสสาวะรดที่นอน ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ตลอดเวลา ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้แบบไม่รู้สึกตัว และภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ขณะมีเพศสัมพันธ์

วิธีในการรักษาโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ในการรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่นั้น จะขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ซึ่งมีหลายวิธีในการรักษาโดยขึ้นอยู่กับคำแนะนำ หรือการพิจารณาของแพทย์

  1. การฝึกกล้ามเนื้อกระบังลม สามารถช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อที่รองรับกระเพาะปัสสาวะและทางเดินปัสสาวะได้ ช่วยให้กลั้นปัสสาวะได้ดีขึ้น
  2. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น การลดการบริโภคของเหลวที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ การตั้งตารางเวลาในการไปห้องน้ำ หรือการบริหารน้ำหนักเพื่อลดแรงกดที่กระเพาะปัสสาวะ
  3. การใช้ยา มียาบางชนิดที่ช่วยควบคุมกล้ามเนื้อหรือปรับปรุงการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ เช่น ยากลุ่ม anticholinergics สำหรับกระเพาะปัสสาวะที่กระตุ้นง่าย
  4. การใช้อุปกรณ์ช่วย สำหรับผู้หญิงอุปกรณ์ เช่น pessary ที่สวมใส่ในช่องคลอดอาจช่วยรองรับกระเพาะปัสสาวะและลดอาการรั่วไหลของปัสสาวะ
  5. การผ่าตัด ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล อาจพิจารณาการผ่าตัด เช่น sling procedures ที่ใช้วัสดุทำ sling เพื่อรองรับกระเพาะปัสสาวะ
  6. การใช้เทคโนโลยีไฟฟ้ากระตุ้น เช่น การกระตุ้นเส้นประสาทไฟฟ้า (neuromodulation) ซึ่งช่วยปรับปรุงการทำงานของเส้นประสาทที่ควบคุมกระเพาะปัสสาวะ

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก บุคลากรทางสาธารณสุขทุกคน แพทย์และพยาบาล มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้การดูแลผู้ป่วยประสบความสำเร็จ ดังนั้นการเข้าใจถึงการเกิดโรคของอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ในแต่ละชนิดและแนวทางการรักษา จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ลดปัญหาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นทั้งจากภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ค่ะ

Karintip

Karintip

About Author

You may also like

สุขภาพ

5 โรคที่พบได้บ่อยในคนไทย คุณกำลังทำพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้อยู่หรือไม่?

สภาพแวดล้อม และรูปแบบการดำเนินชีวิตล้วนส่งผลต่อสุขภาพทั้งสิ้น มีหลายโรคร้ายที่พบบ่อยในคนไทย การทราบถึงสาเหตุของโรคสามารถนำมาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีได้
ผู้หญิง สุขภาพ

สาว ๆ ต้องอ่าน! สาเหตุ “โรคมะเร็งปากมดลูก” รู้ก่อนป้องกันได้!

โรคมะเร็งปากมดลูก มีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อ HPV (Human Papillomavirus) การดูแลตัวเองและตรวจเช็คสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ สามารถช่วยป้องกันโรคนี้ในระยะแรกเริ่มได้